ศูนย์ข่าวสาร | ประเทศไทย | 中國台灣

ธ.ค. 13, 2565

มูลนิธิ ฟิลิปส์ และ ฟิลิปส์ ประเทศไทย ร่วมส่งมอบเครื่องมือและโซลูชั่นทางการแพทย์
เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงระบบสุขภาพในประเทศไทยผ่านมูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี


• สองปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีผู้ป่วยโควิด-19 ในระบบบริการสุขภาพกว่า 4.7 ล้านคน และปัจจุบันยังมีการรายงานจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ประมาณ 350 รายต่อสัปดาห์ ซึ่งตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 การขาดแคลน เครื่องมือและบุคลากรทางการแพทย์กลายเป็นความท้าทายสำคัญในวงการเฮลท์แคร์ประเทศไทย

• มูลนิธิฟิลิปส์ และฟิลิปส์ ประเทศไทย จึงได้สนับสนุนระบบการจัดการและดูแลผู้ป่วยแบบอิเล็กทรอนิกส์  และเครื่องติดตามและวัดสัญญาณชีพ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยในประเทศไทย โดยคาดว่าจะช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้คนได้กว่า 15,000 คน

• ฟิลิปส์ได้ทำงานร่วมกับมูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถีเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่มีคุณภาพสำหรับผู้ด้อยโอกาสในประเทศไทย

philips donate icca asset1

กรุงเทพฯ ประเทศไทย - การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ถือเป็นบททดสอบสำคัญต่อระบบสาธารณสุขของแต่ละประเทศ รวมทั้งประเทศไทย โดยเฉพาะความไม่เพียงพอของสถานบริการด้านสาธารณสุขและ การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ เป็นความท้าทายที่เด่นที่สุด รวมถึงความสับสนในการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านมาตรฐานทางการแพทย์ของประเทศเนื่องจากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นจำนวนมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน สำหรับจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ในปีพ.ศ. 2564 มีรายงานยอดผู้ป่วยกว่า 2,000 รายต่อวัน และยอดผู้เสียชีวิตมากกว่า 200 รายต่อวัน แม้ว่าปัจจุบันสถานการณ์ได้คลี่คลายมากขึ้น แต่ก็ยังมีผู้ป่วยกว่า 350 รายต่อสัปดาห์ ซึ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงเช่นนั้น เครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ล้ำสมัยเป็นสิ่งจำเป็นต่อการสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลอย่างยิ่ง


ฟิลิปส์ เรามีปณิธาณที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนผ่านนวัตกรรมอันทรงคุณค่า ในขณะที่ มูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถีก็มีพันธกิจและเป้าหมายในการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในประเทศไทยให้สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ ซึ่งความท้าทายที่เกิดขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด-19 ทำให้มูลนิธิ ฟิลิปส์ และฟิลิปส์ ประเทศไทย ตอบสนองเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน ด้วยการร่วมทำงานกับมูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถีในการช่วยเหลือผู้ป่วยด้อยโอกาสในประเทศไทยให้เข้าถึงบริการสุขภาพได้มากขึ้น


นายแพทย์อุดม เชาวรินทร์ กรรมการผู้จัดการมูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า “ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 โรงพยาบาลราชวิถีเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลหลักของประเทศไทยที่ให้บริการรักษาพยาบาล แก่ผู้ป่วยโควิด-19 โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งในช่วงเวลานั้นโรงพยาบาลราชวิถีต้องเผชิญกับความท้าทายจากการขาดแคลนบุคลากรและจำนวนเตียงที่ไม่เพียงพอที่จะรองรับผู้ป่วยจำนวนมากพร้อมกัน เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและคาดการณ์ไม่ได้ ซึ่งจากสถิติของผู้ป่วยโรงพยาบาลราชวิถีทั้งหมดในปีพ.ศ. 2564 มีผู้ป่วยนอกกว่า 955,403 คน และผู้ป่วยใน 34,889 คน โดยผู้ป่วยโควิด-19 ที่เป็นผู้ป่วยนอกจำนวน 2,385 คน และผู้ป่วยโควิด-19 ที่เป็นผู้ป่วยในจำนวน 6,673 คน ซึ่งต้องบอกว่าจำนวนผู้ป่วยที่ต้องการการรักษามีมากกว่านี้มาก แต่โรงพยาบาลของเรารองรับได้เพียงเท่านี้ สำหรับในปีพ.ศ. 2565 โรงพยาบาลราชวิถีมีจำนวนผู้ป่วยนอกกว่า 1,295,552 คน และผู้ป่วยใน 44,925 คน โดยผู้ป่วยโควิด-19 ที่เป็นผู้ป่วยนอกมีจำนวน  27,971 คน และผู้ป่วยโควิด-19 ที่เป็นผู้ป่วยในจำนวน 11,955 คน  ซึ่งจากสถานการณ์นี้ ทำให้เราตระหนักถึงความต้องการด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่จะเข้ามาช่วย ลดงานให้กับบุคลากรของโรงพยาบาล จึงได้ทำงานร่วมกับมูลนิธิฟิลิปส์ และ ฟิลิปส์ ประเทศไทย เพื่อสนับสนุนด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูงสำหรับโรงพยาบาลราชวิถี”

philips donate icca asset2

ด้วยความตั้งใจที่จะตอบสนองอย่างเร่งด่วนต่อความท้าทายด้านสาธารณสุข มูลนิธิฟิลิปส์ และฟิลิปส์ประเทศไทย จึงร่วมกันส่งมอบเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่สร้างประโยชน์ให้กับผู้ป่วยและโรงพยาบาลในประเทศไทย ด้วยระบบการจัดการและดูแลผู้ป่วยแบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับเป็นเครื่องมือในการช่วยวิเคราะห์และตัดสินใจทางการแพทย์ในการดูแลรักษาพยาบาลในหน่วยการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยวิกฤต และเครื่องติดตามคลื่นหัวใจและสัญญาณชีพที่ออกแบบมาให้สะดวกในการเคลื่อนย้ายและใช้งานง่าย ให้แก่มูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถีเพื่อสนับสนุนการทำงานของโรงพยาบาลราชวิถี


นายวิโรจน์ วิทยาเวโรจน์ ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “เรามุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีให้กับคนไทย และเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกำหนดทิศทางอนาคตของสาธารณสุขในประเทศไทย ด้วยการนำเสนอนวัตกรรมอันชาญฉลาดในการดูแลผู้ป่วยและโซลูชั่นทางการแพทย์อัจฉริยะที่เหมาะสมและพอดีกับความต้องการในช่วงเวลานั้นๆ


นอกจากนี้ เรายังเล็งเห็นถึงความสำคัญในการทำงานร่วมกับองค์กรอื่นๆ และความเร่งด่วนในการตอบสนองต่อความท้าทายในระบบสาธารณสุข ซึ่งครั้งนี้ก็เป็นอีกครั้งที่เรามีโอกาสได้ทำงานร่วมกับมูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถีเพื่อสนับสนุนการทำงานของโรงพยาบาลราชวิถี”


“ด้วยระบบการจัดการและดูแลผู้ป่วยแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ICCA ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถดูแลผู้ป่วยได้ดีขึ้น ลดงานด้านเอกสาร และสามารถจัดการกระบวนการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเมื่อทำงานร่วมกับเครื่องติดตามคลื่นหัวใจและสัญญาณชีพ Philips Efficia CM100 จะช่วยสนับสนุนการติดตามอาการและการรักษาผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้ป่วย และช่วยสร้างความพึงพอใจในการทำงานให้แก่บุคลาการทางการแพทย์ด้วย” นายวิโรจน์ อธิบายเพิ่มเติม

philips donate icca asset3

ด้านนายแพทย์พิชิต ควรรักษ์เจริญ หัวหน้ากลุ่มงานดิจิทัลการแพทย์ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า “โรงพยาบาลราชวิถีมีศักยภาพสูงในการวินิจฉัยและให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ของเราต้องเผชิญกับความท้าทายหลายอย่าง ซึ่งหนึ่งในความท้าทายที่สำคัญ ก็คือ ปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นโดยไม่เคยคาดคิดมาก่อน เจ้าหน้าที่ของเราจึงต้องทำงานล่วงเวลา ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของพวกเขาอย่างมาก ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ที่ได้รับเชื้อโควิด-19 หรือสัมผัสเสี่ยงสูง ยังต้องเข้ารับการกักตัวถึง 14 วัน ส่งผลให้ปัญหาการขาดแคลนกำลังคนในช่วงดังกล่าวทวีความรุนแรงมากขึ้นอีกด้วย”


จากสถานการณ์ในช่วงวิกฤตของการแพร่ระบาดของโควิด-19 โซลูชั่นด้านการจัดการข้อมูลและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ล้ำสมัยกลายเป็นสิ่งสำคัญที่กำลังถูกพูดถึงอย่างมากเพื่อช่วยสนับสนุนการเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้มากขึ้น


“หลังจากที่เราได้ใช้โซลูชันของ Philips มาระยะหนึ่งเราก็พบว่า ระบบการจัดการและดูแลผู้ป่วยแบบอิเล็กทรอนิกส์นี้ช่วยให้เราเข้าถึงข้อมูลผู้ป่วยได้อย่างครอบคลุม และช่วยการตัดสินใจในการรักษารวดเร็วยิ่งขึ้น ระบบ ICCA นี้ช่วยอำนวยความสะดวกตั้งแต่ผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาล โดยเชื่อมต่อกับระบบของโรงพยาบาลเพื่อจัดการข้อมูลของผู้ป่วยในโรงพยาบาล และให้เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์สามารถเข้าถึงข้อมูลผู้ป่วยได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นประวัติการใช้ยา บันทึกการรักษา รายงานทางห้องปฏิบัติการ และรูปภาพ เป็นต้น ดังนั้น เจ้าหน้าที่ของเราจึงไม่ต้องเสียเวลากับการค้นหา หรือจัดทำเอกสารรายงานเหมือนเมื่อก่อน เจ้าหน้าที่ก็จะมีเวลาดูแลผู้ป่วยมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ยังช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยและเลือกแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งหากมีการแพร่ระบาดของโรคอีก ระบบเหล่านี้ก็จะสามารถลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ได้มากขึ้น และการรักษาผู้ป่วยก็สามารถทำได้รวดเร็วขึ้นเช่นกัน” นายแพทย์พิชิต สรุป

เกี่ยวกับมูลนิธิ ฟิลิปส์

มูลนิธิ ฟิลิปส์ เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่จดทะเบียนในปีค.ศ. 2014 โดยมีพันธกิจในการช่วยเหลือสังคมหรือชุมชนด้อยโอกาสทั่วโลกให้สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพได้ โดยการบูรณาการศักยภาพของฟิลิปส์กับความเชี่ยวชาญขององค์กรเอกชนในท้องถิ่นที่มุ่งเน้นการช่วยเหลือสังคม ซึ่ง มูลนิธิ ฟิลิปส์ ช่วยสร้างสรรค์โอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขและการดูแลสุขภาพให้กับชุมชนที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด ด้วยการร่วมมือกับผู้ประกอบการในท้องถิ่นเพื่อวางรากฐานระบบนิเวศด้านสาธารณสุขให้กับชุมชน เพื่อความยั่งยืนในระยะยาว โดยมูลนิธิ ฟิลิปส์ ตั้งเป้าที่จะยกระดับการเข้าถึงบริการสาธารณสุขให้กับผู้คนให้ได้ 100 ล้านคนต่อปี ภายในปีค.ศ. 2030 สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดตามได้ที่ www.philips-foundation.com

อ่านเพิ่มเติมอ่านน้อยลง

เกี่ยวกับ รอยัล ฟิลิปส์

รอยัล ฟิลิปส์ (NYSE: PHG, AEX: PHIA) เป็นบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ มุ่งเน้นการพัฒนาด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนภายใต้แนวคิด Health Continuum การดูแลสุขภาพแบบครบวงจรโดยเริ่มตั้งแต่ที่บ้านด้วยความเป็นอยู่ที่ดี การป้องกันโรค ไปจนถึงการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่โรงพยาบาล จนกระทั่งการกลับไปดูแลรักษาสุขภาพผู้ป่วยต่อที่บ้าน ซึ่งฟิลิปส์ได้นำเทคโนโลยีล้ำสมัย พร้อมทั้งข้อมูลเชิงลึกทางคลินิคและความต้องการของผู้บริโภคมานำเสนอโซลูชั่นแบบครบวงจร สำนักงานใหญ่ของฟิลิปส์ตั้งอยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์ และปัจจุบันฟิลิปส์เป็นผู้นำด้านรังสีวินิจฉัย (diagnostic imaging), การรักษาด้วยรังสีภาพนำวิถี (image-guided therapy),  เครื่องตรวจติดตามสัญญาณชีพ (patient monitoring) และระบบการจัดการข้อมูลสารสนเทศด้านสุขภาพ (health informatics) รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กเพื่อการดูแลสุขภาพส่วนบุคคล และนวัตกรรมดูแลรักษาผู้ป่วยที่บ้าน ในปีค.ศ. 2021 ฟิลิปส์มียอดขายกว่า 17,200 ล้านยูโร และมีพนักงานกว่า 79,000 คน ในการดำเนินธุรกิจในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก สามารถติดตามข่าวสารเกี่ยวกับฟิลิปส์ได้ที่ www.philips.com/newscenter

อ่านเพิ่มเติมอ่านน้อยลง

หัวข้อ

ข้อมูลติดต่อ

chatharnee Polmetharas

Chatharnee Polmetharas

Brand & Communication Manager
Philips Thailand and Philippines

You are about to visit a Philips global content page

Continue

เนื้อหาของสื่อ

แชร์ในโซเชียลมีเดีย

You are about to visit a Philips global content page

Continue

ไซต์ของเราสามารถดูได้ดีที่สุดด้วย Microsoft Edge, Google Chrome หรือ Firefox เวอร์ชันล่าสุด